ทำอย่างไรให้คุณกลายเป็นแบรนด์ ตอนที่ 1

<< ทุกวันนี้เป็นยุคของการ “สร้างตัวตน” ไม่ว่าจะในรูปแบบของสินค้า บริษัท องค์กร หรือแม้แต่ตัวบุคคล ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ จึงจะมาพูดคุยเรื่อง “ทำอย่างไรให้คุณกลายเป็นแบรนด์” ในบทความ 3 ตอนจบ ติดตามได้ที่นี่ที่เดียวเท่านั้น!!! >>
 
หันซ้ายหันขวาก้มหน้าเงยหน้าในแต่ละวันเราก็เจอสารพัดแบรนด์สินค้าหรือบริการเข้ามาปะทะกับชีวิตเราตลอดเวลา
 
ในขณะที่เราอ้าแขนรับบางแบรนด์ด้วยความหลงใหล หลงรัก และเราก็เซย์โนกับบางแบรนด์อย่างไม่แยแส แสดงว่าแต่ละแบรนด์ย่อมมีวิธีการบริหารเสน่ห์ของแบรนด์จนทำให้ลูกค้าอย่างเราซื้อหรือไม่ซื้อ
 
เรื่องของแบรนด์จึงเป็นสิ่งที่เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แบรนด์ไม่ใช่แค่สินค้าหรือบริการเท่านั้น ทุกวันนี้บริษัท องค์กรใหญ่ๆ ก็ต้องสร้างแบรนด์เพื่อความน่าเชื่อถือ สถานที่อย่างเมือง จังหวัด ประเทศก็ต้องสร้างแบรนด์ให้ชัดจนคนคิดถึงอยากจะไปเที่ยว เยี่ยมชม เรียกกันว่าสร้างแบรนด์บ้านแบรนด์เมืองกันเลยทีเดียว
 
หรือแม้แต่สิ่งที่ใกล้ตัวเราแบบสุดๆ ก็คือ ตัวเรา ตัวคุณๆ นั่นแหละก็สามารถสร้างเป็นแบรนด์บุคคลได้เช่นกัน
 
คำถามหรือข้อสงสัยที่จะเกิดขึ้นมาก็คือ แล้วฉันจะสร้างแบรนด์ตัวตนของฉันจากตรงไหนดี คำตอบก็คือ จะสร้างแบรนด์ตัวเอง ก็ต้องเริ่มจากตัวเอง
ค้นหาตัวตน
 
- ค้นหาจากสิ่งที่ชอบ ชอบอะไรเป็นชีวิตจิตใจ สุขทุกครั้งที่ทำ เช่น ร้องเพลง เขียนการ์ตูน พูด กิน เที่ยว เดินทาง กีฬา โยคะ
 
- ค้นหาจากบุคลิกภาพของตัวเอง ด้วยการให้เพื่อนของเรานิยามตัวเราด้วยคำ 3 คำ ถ้ามีการซ้ำของคำมากที่สุดแล้วเป็นสิ่งที่ดี นั่นคือบุคลิกภาพที่โดดเด่นของเรา จากนั้นนำไปคิดต่อยอด
 
- ค้นหาจากสิ่งที่คุณมีความรู้หรือลุ่มหลงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ลุ่มหลงในเรื่องรถยนต์ มีความรู้เฉพาะเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะดีมากถ้าเป็นเรื่องที่ยังมีคนรู้น้อย เราจะได้ทำให้คนรู้เยอะขึ้น
 
- ค้นหาจากสิ่งที่ชำนาญ เชี่ยวชาญ จนเกิดเป็นทักษะ เช่น มีทักษะในการทำเสียง Beat Box การทำอาหารคลีน
 
หลังจากสำรวจและค้นหาตัวตนได้แล้ว ก็ต้องมาคิดกันต่อว่า คุณจะนำตัวตนไปแสดง ถ่ายทอดหรือนำเสนอด้วยวิธีใด เช่น สร้างแบรนด์ตัวเองให้สุดติ่งในด้านการท่องเที่ยวผ่านการทำเพจเที่ยว ก็ต้องมาดูต่อว่า จะเที่ยวแบบไหน (เที่ยวต่างประเทศโดยเน้นประเทศที่เด่นด้านวัฒนธรรม หรือเที่ยวในที่ที่ Unseen) หรือถ้าคุณทำอาหารเก่ง ลองหามิติการทำอาหารที่มีแรงดึงดูดให้คนสนใจ แต่ถ้าไม่อยากลงทุนอะไรเยอะ ก็ขอให้นำไลฟ์สไตล์ที่ทำอยู่แล้วทุกวันมาเล่าเรื่องให้น่าสนใจและมีเนื้อหาสาระ ที่สำคัญคือเมื่อเราทำสิ่งที่รัก มันจะอุดมไปด้วย Passion ที่จะเป็นแรงเสริมให้คุณสนุกและมีความสุข
 
อ่านต่อ ตอนที่ 2 นะครับ 

10 มกราคม 2562

ผู้ชม 774 ครั้ง

Engine by shopup.com