คนเดินลัดสนาม หญ้าตาย คนเดินลัดสนามไม่ผิด ผิดที่คนออกแบบ

คนเดินลัดสนาม หญ้าตาย คนเดินลัดสนามไม่ผิด ผิดที่คนออกแบบ
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เสริมยศ ธรรมรักษ์
หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 
 
 
              บ่อยครั้งที่การออกแบบ (Design) ของนักออกแบบไม่สัมพันธ์กับพฤติกรรมจริงของผู้ใช้สิ่งนั้นหรือผู้บริโภค สิ่งที่เกิดก็จะเหมือนในภาพด้านบนคือคนเลือกที่จะเดินลัดสนามจนเกิดเส้นทางใหม่ เราจะไม่ดราม่าและพูดเรื่องความมักง่าย ไม่มีวินัย เดินลัดสนามจนทำให้หญ้าตาย   
 
คำถาม : ทำไมคนเดินลัดสนาม 
คำตอบ : มันย่นระยะทาง ไม่อ้อม ไม่เหนื่อย ถึงจุดหมายเร็วกว่า
หรือหลักคิดง่ายๆ คือ ทำให้ง่าย สะดวกสบายในการใช้งานและบรรลุเป้าหมายของผู้ใช้งานหรือแก้ปัญหานั้นได้ 
 
                 ตัวอย่างการเดินลัดสนามสะท้อนให้เห็นว่า นักออกแบบอาจจะไม่เข้าใจพฤติกรรมของคน ยึดตามหลักการออกแบบให้สวยงามแต่สิ่งที่ออกแบบมาไม่เป็นที่นิยม ไม่มีคนใช้งานเพราะใช้งานยาก ผู้คนอาจจะบอกว่า "มันทำให้ฉันเหนื่อย มันไกล ไม่ชอบใช้" ก็คือ Design ไม่โอเค ถ้าเป็นศัพท์แสงด้านการออกแบบสื่อสมัยใหม่ ก็คือ User Interface (UI) เหมือนที่เราเปิดแอปพลิเคชันบางแอปขึ้นมาแล้วใช้งานมันได้อย่างคล่องแคล่ว หาอะไรก็เจอ ทำทุกอย่างได้ตามขั้นตอนที่ถูกต้องแสดงว่าคนออกแบบสร้างแอปพลิเคชันได้สัมพันธ์กับผู้ใช้งานหรือเข้าถึงประสบการณ์ของลูกค้าหรือผู้ใช้งาน หรือ User Experience (UX) หลักของ UX คือ การทำให้ทุกอย่างที่ออกแบบให้ใช้งานง่าย สะดวกสบาย คล่องปรื๊ดดดด
 
 
               เช่นเดียวกับการใช้งาน Smart Phone ต่างๆ ที่ผู้คนมักจะชอบแสดงพฤติกรรมเป็น ดาวไถ คือไถลงไถขึ้น มากกว่า การใช้นิ้วถ่างหุบไปมา ดังนั้น คนออกแบบก็ต้องออกแบบ User Interface ให้สัมพันธ์กับประสบการณ์ของผู้ใช้ (User Experience) ซึ่งก็คือพฤติกรรมดาวไถ (ขึ้น-ลง) นั่นเอง 
 
หรือเวลาที่เราเข้าไปจองโรงแรมที่พักไม่ว่าจะเป็น Booking , Agoda , Expedia, Traveloka  หรือแม้แต่ Airbnb เราก็จะรู้สึกว่าบางเว็บไซต์ดู Friendly และใช้งานง่าย แสดงว่า UI ที่ออกแบบมาถูกนำมาวิจัย สอบถามจากผู้ใช้แล้วนำกลับไปพัฒนาแก้ไขจนออกมาสอดคล้องกับประสบการณ์ผู้ใช้ทำให้ผู้ใช้เกิดพฤติกรรมจริงตามที่แบรนด์หรือคนออกแบบต้องการ
อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีของซอสมะเขือเทศ ที่คนออกแบบบรรจุภัณฑ์เป็นขวดและมีฝาอยู่ด้านบนนั่นคืองานออกแบบหรือเปรียบได้กับ User Interface (UI) ที่ลูกค้ามักจะพบเจอเป็นเรื่องปกติ แตวันหนึ่งมีคนแคร์หรือใส่ใจเรื่องประสบการณ์ผู้ใช้ซอสมะเขือเทศมากขึ้น ด้วยความเข้มข้นของซอสมะเขือเทศที่อาจจะเทยาก ก็เลยออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ฝาอยู่ด้านล่างหรือเป็นการกลับด้านของขวดนั่นเอง เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้ใช้งานซอสมะเขือเทศขวดนี้เทซอสลงในอาหารได้ง่ายขึ้น

บทสรุปก็คือ ก่อนจะออกแบบอะไร หรือ สร้าง User Interface ในสื่อใหม่ต่างๆ ควรจะทำความเข้าใจประสบการณ์ผู้ใช้ (User Experience) ก่อน เพื่อให้งานออกแบบที่นักออกแบบทั้งหลายสร้างสรรค์ขึ้นมา แมชชิ่ง สัมพันธ์หรือเชื่อมต่อกับประสบการณ์ผู้ใช้และนำมาซึ่งประสบการณ์ที่ดี
 
***User Interface หรือ UI เป็นคำที่เกิดขึ้นก่อน User Experience (UX) UI เป็นคำที่เกิดขึ้นในยุคที่มีคอมพิวเตอร์แรกๆ ส่วน UX เกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 90 โดย Don Norman หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง The Nielsen Norman Group

14 พฤษภาคม 2561

ผู้ชม 2861 ครั้ง

Engine by shopup.com