แบรนด์นอกแห่แต่งตั้งผู้บริหารคนไทย… บอกสัญญาณอะไรได้บ้าง

แบรนด์นอกแห่แต่งตั้งผู้บริหารคนไทย… บอกสัญญาณอะไรได้บ้าง

By Ratirita

บริษัทข้ามชาติที่ทำตลาดในประเทศไทย มีการปรับโครงสร้าง แต่งตั้งผู้บริหารคนไทยให้ขึ้นกุมบังเหียนกันถ้วนหน้า ทั้งนี้เกิดจากสภาพการแข่งขันรุนแรง อาศัยความเข้าใจของคนไทยด้วยกัน รวมถึงศักยภาพคนไทยที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จนก้าวขึ้นตำแหน่งใหญ่ 

เปลี่ยนมือให้คนไทยบริหาร อาศัยความเป็นโลคอล

กลายเป็นทิศทางสำคัญของหลายๆ บริษัทที่ได้เห็นมาขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ ในการแต่งตั้งคนไทยขึ้นบริหารในตำแหน่งระดับสูงของบริษัทข้ามชาติ หรือแบรนด์ต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย โดยมีในหลายๆ อุตสาหกรรมทั้งรถยนต์ เทคโนโลยี โทรศัพท์มือถือ ค้าปลีก 

เนตรนภา ศรีสมัย และเมอร์เรย์ ดาร์ลิ่ง
  • โดยที่ได้เห็นล่าสุดก็คือ Starbucks โดยบริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศแต่งตั้ง “เนตรนภา ศรีสมัย” เป็นกรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย ถือว่าเป็นผู้บริหารคนไทย และเป็นผู้หญิงคนแรกในตำแหน่งนี้ หลังจากที่สตาร์บัคส์ทำตลาดในประเทศไทยมา 20 ปี

 

สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย และจอห์น คริสตี้
  • ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง “เทสโก้ โลตัส” ได้ประกาศแต่งตั้ง “สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย” เป็นประธานกรรมการบริหาร แทน “จอห์น คริสตี้” ที่ตำแหน่งครบวาระในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 ถือเป็นคนไทยคนแรกที่ขึ้นตำแหน่ง CEO ของเทสโก้ โลตัสเช่นกัน

           สมพงษ์ได้เริ่มงานกับเทสโก้ โลตัส มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และมีประสบการณ์ในการบริหารงานในหลายภาคส่วน ได้แก่ ฝ่ายการพานิชย์ งานวางแผนพื้นที่และการจัดเรียงสินค้า งานด้านกลยุทธ์ทางการตลาด ฝ่ายอสังหาริมทรัพย์และพื้นที่ศูนย์การค้า โดยตำแหน่งล่าสุดคือประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการพานิชย์ ซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโนบายและบริหารงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การควบคุมคุณภาพ การจัดซื้อ จัดเรียงสินค้า และซัพพลายเชน ล่าสุดได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจด้านอาหารสด

สิรินพร วัฒนะภราดร
  • เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ยักษ์ใหญ่วงการ FMCG อย่าง บริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ P&G ประเทศไทย ประกาศแต่งตั้ง “สิรินพร วัฒนะภราดร” เป็นผู้อำนวยการฝ่ายขายคนใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นผู้หญิงคนแรก และเป็นคนไทยคนแรก ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เป็นการฉลองครบรอบการดำเนินงาน 30 ปี P&G ประเทศไทยด้วย

           สิรินพรได้เข้ารับตำแหน่งต่อจาก “พอล อัลบาโน” ซึ่งย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายขาย ด้านธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยที่สิรินพรร่วมงานกับ P&G มาแล้ว 12 ปี เริ่มทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนากลุ่มธุรกิจลูกค้าร้านค้าสะดวกซื้อ และร้านค้าขายปลีกในรูปแบบการขายส่ง มีความเชี่ยวชาญด้านงานบริหารการขาย วางแผนกลยุทธ์ด้านแบรนด์สินค้าและกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม

ทศพร นิษฐานนท์
  • เมื่อปี 2559 แบรนด์ “HUAWEI” ได้ทำการรุกตลาดในประเทศไทยอย่างหนัก ได้มีการแต่งตั้ง “ทศพร นิษฐานนท์” เป็นรองผู้อำนวยการ บริษัท หัวเว่ยคอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด รับผิดชอบด้านการวงกลยุทธ์ และพัฒนาธุรกิจ ดูแลภาพรวมธุรกิจคอนซูมเมอร์ในประเทศไทย ได้ร่วมงานกับหัวเว่ยตั้งแต่ปี 2559 ก่อนหน้านี้เป็นผู้บริหารแบรนด์ Samsung ในระดับภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญของหัวเว่ย สร้างรายได้อันดับต้นๆ และมีการลงทุนในหลายๆ โปรเจ็คต์ ทั้งการสร้างสำนักงานประจำภูมิภาคที่ไทยด้วย การมีผู้บริหารคนไทยช่วยให้ภาพรวมธุรกิจเติบโตยิ่งขึ้น
ชาญชัย ตระการอุดมสุข
  • รวมถึง “Mazda” โดยบริษัท มาสด้า เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในปี 2559 ได้ประกาศแต่งตั้ง “ชาญชัย ตระการอุดมสุข” ขึ้นเป็นประธานบริหารคนไทยคนแรกของมาสด้า แทน “ฮิเดสึเกะ ทาเกสึเอะ” ที่ครบวาระการบริหาร ทั้งนี้มีการปรับโครงสร้างองค์กรด้วยการยกทีมผู้บริหารคนไทยรุ่นใหม่ขึ้นมาบริหารครบทุกแผนกด้วย เพื่อการบริหารได้คล่องตัวขึ้น
อริยะ พนมยงค์
  • ส่วน LINE ประเทศไทย ก็ได้แต่งตั้ง “อริยะ พนมยงค์” ขึ้นแท่นกรรมการผู้จัดการคนแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2558 หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีผู้บริหารจากทางบริษัทแม่คอยกำหนดนโยบาย แต่เมื่อธุรกิจในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว คนไทยให้การตอบรับกับ LINE มากขึ้น ทำให้มีการลงทุนอย่างหนักในหลายๆ ด้าน เพื่อติดสปีดในการเติบโตมากขึ้นไปอีก หนึง่ในนั้นก็คือเรื่องบุคลากร ทำให้ปัจจุบันได้เห็นผู้บริหารคนไทยในหลายๆ ตำแหน่งของ LINE ประเทศไทย
  • หรือในวงการ FMCG บิ๊กเนมอย่าง “ยูนิลีเวอร์” ที่ทำตลาดในประเทศไทยมาช้านาน ได้แต่งตั้ง “สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์” ให้เป็นแม่ทัพหญิงคนแรกของไทย กับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2557 ซึ่งสุพัตราร่วมงานในยูนิลีเวอร์มากว่า 25 ปีแล้ว ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลงให้ “โรเบิร์ต แคนเดลิโน” ผู้บริหารระดับสูงจากยูนิลีเวอร์ สหรัฐอเมริการับตำแหน่ง CEO ในประเทศไทย ส่วนสุพัตราไปนั่งตำแหน่งประธานที่ปรึกษานโยบายความยั่งยืนแทน

ทั้งนี้ยังมีอีกหลายๆ บริษัทที่มีการแต่งตั้งคนไทยให้ขึ้นบริหาร นอกเหนือจากบริษัทที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น ซึ่งทิศทางต่อไปคงได้เห็นการแต่งตั้งผู้บริหารคนไทยมากขึ้นอย่างแน่นอน

นักวิชาการชี้ คนไทยเข้าใจคนไทยได้ดีที่สุด

ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้วิเคราะห์ว่า

                การที่คนไทยได้มีบทบาทในการเป็นบริหารแบรนด์ต่างชาติ นับว่าเป็นการพิสูจน์ความเก่งและแสดงถึงศักยภาพของคนไทย ก่อนหน้านี้ก็จะเห็นข่าวผู้บริหารที่เป็นคนรุ่นใหม่ในแวดวงเอเยนซี่โฆษณาและการสื่อสารแบรนด์ คุณโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกขึ้นดำรงตำแหน่ง President หรือ ประธานอำนวยการ Y&R ประเทศไทย

การที่แบรนด์ต่างชาติเลือกคนไทยเข้ามาทำหน้าที่ในระดับบริหารของแบรนด์ อาจมีเหตุปัจจัยหลายประการ

  • ปัจจัยที่ 1 คนไทยย่อมเข้าใจ “ปม” และ “เบื้องหลัง” ความคิดของคนไทยได้ดีที่สุด โดยเฉพาะมุมมองทางการตลาด ตลาดเมืองไทยได้รับการขนานนามว่าเป็น “ตลาดปราบเซียน” ชาวต่างชาติหลายคนอาจเซอร์ไพรส์กับพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยมาแล้ว สิ่งที่ใช้และประสบความสำเร็จทั่วโลก อาจจะใช้ไม่ได้กับคนไทยนั่นเอง
  • ปัจจัยที่ 2 ศักยภาพ ความสามารถที่ผ่านการรับรองจากผลงานที่ผ่านมาของผู้บริหารที่เป็นคนไทย เชื่อเหลือเกินว่าแบรนด์ระดับโลกต้องมีกระบวนการคัดสรรบุคลากรอย่างเข้มข้น และต้องพิสูจน์ด้วยผลงานหรือความสำเร็จที่ผ่านมา ส่งผลให้บุคลากรไทยได้เข้าไปสู่ระดับบริหารของแบรนด์ต่างชาติ
  • ปัจจัยที่ 3 ผู้บริหารไทยเข้าใจพนักงาน หรือบุคลากรคนไทยได้ง่ายกว่า คนทำงานส่วนใหญ่ต้องการส่วนผสมที่ได้จากองค์กรทั้งด้านหัวใจหรือความรู้สึก (Heart) ผสมผสานกับหลักเหตุผล (Head) และนำไปสู่ความสุข (Happy) การบริหารบุคลากรภายในบริษัทที่เกินครึ่ง หรือบางบริษัทมีมากถึง 80 % ที่เป็นคนไทย ผู้บริหารคนไทยอาจจะสามารถเข้าใจลูกน้องที่เป็นคนไทย ทำงานและบริหารจัดการได้คล่องตัวกว่า

                การได้เห็นบทบาทของคนไทยในการบริหารแบรนด์ระดับโลกก็แสดงให้เห็นสัญญาณว่าเรามีกระบวนการคิด พัฒนาและมุมมองเชิงบริหารไม่แพ้ต่างชาติ และจุดนี้อาจจะเป็นแรงบันดาลใจหรือเป็นต้นแบบให้กับคนไทยที่มีศักยภาพและความสามารถอีกหลายๆคนที่จะก้าวไปถึงจุดดังกล่าวได้เช่นกัน ซึ่งอยากให้มองว่าการไปถึงตำแหน่งบริหารดังกล่าวคนไทยทำได้และแต่ละท่านก็คงไม่ได้ก้าวไปถึงจุดดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย ทุกอย่างต้องผ่านการพิสูจน์ฝีมือและมีการรับประกันด้วยผลงานต่างๆ ที่ผ่านมาด้วย

สรุป

                 การที่แบรนด์ต่างชาติมีการปรับโครงสร้างการบริหาร โดยให้ผู้บริหารคนไทยขึ้นตำแหน่งใหญ่ๆ มากขึ้น เป็นการช่วยให้การบริหารงานคล่องตัวขึ้น อีกทั้งยังอาศัยความเข้าใจของคนไทยด้วยกันเองในการทำตลาด

 

ลิงก์ข่าว https://brandinside.asia/inter-brand-first-thai-md-ceo/ 

14 พฤษภาคม 2561

ผู้ชม 985 ครั้ง

Engine by shopup.com