ทวิตเตอร์ดาราดัง จะขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้นได้แค่ไหน

ทวิตเตอร์ดาราดัง จะขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้นได้แค่ไหน

ลิงก์ https://www.thairath.co.th/entertain/news/2193980 

 
  • สังคมไทยกำลังวิกฤติหนักในหลายด้าน เราจะช่วยกันหาทางออกได้อย่างไร
  • โซเชียลมีเดียมีหลายอย่าง ทวิตเตอร์เป็นอีกหนึ่งสื่อแรง ที่ดาราดังชอบเล่น
  • น่าคิดว่า ทวิตเตอร์ดาราดัง จะช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้ดีขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน 
 

ยุคนี้ทุกคนเป็นสื่อได้หมดแล้ว จากโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่มีอยู่เยอะ เลือกใช้เลือกเล่นได้เลยตามความชอบ อยากจะถ่ายทอดสื่อสารอะไรออกไป แค่กดโพสต์ๆ ทวีตๆ ออกไป

วันนี้ Special Content บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปโฟกัสเจาะลึกถึงข้อดีเด่น ข้อด้อย การระวังใช้สื่อ ทวิตเตอร์ twitter ที่ยังแรงเร็ว ทะลุประเด็นร้อนหลายอย่าง แน่นอนว่าดาราดังหลายคนชอบเล่นทวิตเตอร์ เพื่อสื่อสารอะไรหลายๆ อย่างออกไป ทวิตเตอร์ดาราดังๆ กับการขับเคลื่อนสังคมไทยให้ดีขึ้น จะทำได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ต้องรีบๆ ไปอ่านด่วน!

นางแบบสุดปัง-นางงามสุดสตรอง มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ Miss Universe Thailand 2017 มีแอคเคาต์ทวิตเตอร์คือ @mariaehren ที่ก่อนหน้านี้ก็ทวีตเรื่องราวการเมืองไปพอสมควร ล่าสุดเพิ่งโดดไปเล่นซีรีส์ แฟนนางงามก็ปลื้มปริ่มอยู่ ช่วงนี้ยังเดินหน้าทำงานเพื่อสังคมต่อไป สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เช่น ทวงคืนอากาศบริสุทธิ์, คัดค้านนำเข้าเศษพลาสติก ฯลฯ เพราะส่งผลกระทบในวงกว้างหลายด้าน

คิดว่าทวิตเตอร์ของมารีญา มีส่วนช่วยเฝ้าระวัง ตรวจสอบเรื่องไม่ดีต่างๆ ในสังคมได้มากน้อยแค่ไหน? "ช่วยได้มากเลยค่ะ ทวิตเตอร์ทำให้สังคมได้รับรู้ถึงปัญหาต่างๆ อย่างมากมาย เป็นช่องทางให้คนที่รู้ถึงปัญหาออกมาเผยแพร่ และหาทางแก้ไขได้มากขึ้น ตัวมารีญาเองก็เห็นเรื่องต่างๆ ที่เป็นปัญหาในสังคมจากทวิตเตอร์เช่นกันค่ะ

มันเป็นเรื่องที่ดีนะคะ ที่ทำให้เราสามารถติดตาม และให้ความช่วยเหลือปัญหาเหล่านั้นได้ รวมถึงเป็นปากเสียงให้กับคนที่อาจจะเสียงไม่ดังเท่าเรา คนที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งการทวีตของเราในแต่ละครั้ง จะช่วยสร้างอิมแพ็กได้อย่างต่อเนื่อง

มารีญาสามารถช่วยเป็นกระบอกเสียงในเรื่องต่างๆ สื่อให้คนในสังคมเห็นถึงปัญหาต่างๆ ได้ ก็อาจทำให้ปัญหาเหล่านั้นได้รับความสนใจ และได้รับการแก้ไขมากขึ้น มารีญาเองก็ต้องพยายามที่จะหาวิธีในการสื่อเรื่องต่างๆ ออกมาให้ดีที่สุด เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขได้ถูกจุดด้วยค่ะ

ตอนนี้มารีญาเองก็พยายามที่จะหาทางช่วยเหลือ ในเรื่องที่ได้รับรู้มาจากทวิตเตอร์เท่าที่จะทำได้เช่นกัน อย่างเรื่องของสิ่งแวดล้อม หรือผลกระทบของ pm 2.5 ในเด็ก ที่มารีญาทำในรูปแบบของโครงการ sos earth ค่ะ" 

ทุกคนมีสิทธิ์คิด ตัดสินใจได้เอง

กฎ กติกา มารยาทของมารีญาในการทวีต ในการเลือกประเด็นร้อนๆ คืออะไร? "มารีญาค่อนข้างที่จะระมัดระวังในการเลือกเรื่องที่จะทวีต หรือรีทวีตค่ะ โดยเฉพาะในเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อสังคม เราต้องตรวจสอบที่มาของข่าวและข้อเท็จจริงก่อน สิ่งที่จะเลือกทวีต tweet หรือรีทวีต retweet ต้องเป็นข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้

มารีญามีฟอลโลเวอร์ follower 91K ดังนั้น การทวีต หรือรีทวีตแต่ละครั้ง มีคนเห็นค่อนข้างมากค่ะ หลายครั้งที่มารีญาเลือกข้อความที่เป็นกลาง อาจจะเป็นในรูปแบบของรูปภาพ การ์ตูน หรือบทกลอน เพื่อให้คนที่เห็นได้พิจารณาเอาเองจากข้อมูล

โดยที่มารีญาจะไม่บอก ว่ามันถูกหรือผิด มารีญาไม่อยากที่จะผลักดันทัศนคติของตัวเองให้กับคนอื่น ไม่อยากตัดสินแทนคนอื่น ว่าเรื่องไหนถูกหรือผิด แต่อยากให้ข้อมูลเพื่อให้ทุกคนได้มีสิทธิ์ที่จะคิดและตัดสินใจได้เองค่ะ"

ดี-ไม่ดี แล้วแต่เรื่อง

ดาราสวย-นักร้องดัง น้ำชา ชีรณัฐ ยูสานนท์ ทวีตที่ @namcha_tea ให้แง่มุมของการใช้ทวิตเตอร์ที่น่าคิดมากๆ "ชามองว่า ทวิตเตอร์เล่นง่าย ส่งต่อๆ ด้วยการรีทวิต retweet ทำให้เกิดกระแสขึ้นมา กระจายไปในวงกว้างไวมากๆ ไวที่สุด ไวอันดับ 1 ถ้าเทียบกับโซเชียลอื่นๆ ไวมากกว่าหนังสือพิมพ์ ไวมากกว่าไอจี

ในแต่ละวันมีเรื่องราวอะไรต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย กระแสต่างๆ หลายเรื่องก็เกิดจากทวิตเตอร์ เช่น การช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ การกุศล ฯลฯ การช่วยเหลือต่างๆ เป็นการกระจายไปข่าวสารแบบไวมากๆ ซึ่งการใช้ทวิตเตอร์ ก็มีทั้งเรื่องดี ไม่ดี แล้วแต่เรื่องไปค่ะ" 

เสรีภาพทางความคิดผ่านการทวีต

น้ำชา ให้สัมภาษณ์ต่อไป "เราใช้ทวิเตอร์ในด้านดีได้ เช่น คนประสบอุบัติเหตุ ต้องการความช่วยเหลือด่วน ขอบริจาคเลือดด่วนๆ หรือคนติดโควิดไม่มีเตียง ทวีตออกไปไวมากๆ อย่างชาก็เคยประกาศ เรื่องคนตกงานช่วงโควิด กำลังหาคนมาทำงานด้วย เหมือนๆ ประกาศหาพนักงาน คนก็เข้ามาเป็นพันเลย คือคนตกงานเยอะมาก ชาก็ได้คนที่มาทำงานกับเรา เป็นการช่วยคนตกงาน ช่วยสร้างรายได้ด้วยค่ะในช่วงโควิด

ทวิตเตอร์มีเรื่องราวความขัดแย้งทางการเมืองค่อนข้างเยอะ มองจุดนี้อย่างไร "เป็นเรื่องดีนะคะ เป็นการสะท้อนสังคมการเมือง ชาว่าเป็นการกระจายความเห็น ให้เสรีภาพทางความคิดเห็น ช่วยทำให้โลกขับเคลื่อนไปได้เร็วขึ้นค่ะ" 

ตรวจตราความไม่ชอบมาพากลในสังคม

อีกหนึ่งดาราเซ็กซี่ ที่ชอบเล่นทวิตเตอร์ประจำ หมิว สิริลภัส กองตระการ ทวีตที่ @mew_sirilapas กับประเด็นทวิตเตอร์ดาราดัง มีส่วนช่วยเฝ้าระวัง ตรวจสอบเรื่องไม่ดีต่างๆ ในสังคม ได้มากน้อยแค่ไหนนั้น หมิวรีบตอบดังๆ เลยว่า

"หมิวว่าค่อนข้างมีส่วนสำคัญมากเลย ทวิตเตอร์มีอิมแพ็กพอสมควรเลยนะคะ ยิ่งดาราคนไหนที่มีคนติดตามเยอะ ประเด็นอะไรๆ ที่ดาราทำการทวีตไป คนติดตามก็จะรีทวีตไปเรื่อยๆ มันก็จะขึ้นเทรนด์ แล้วจะมีการนำเทรนด์นั้น ไปทำข่าวในโลกจริงทางหน้าจอทีวี ที่ไม่ใช่ในโลกออนไลน์ บางแท็ก บางเทรนด์ สามารถทำให้เป็นข่าวได้"

 "เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องดีนะคะ ที่ทวิตเตอร์เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นวอตช์ด็อก Watch Dog หมาเฝ้าบ้าน ตรวจตราความผิด ความไม่ชอบมาพากลในสังคม บางข่าวนะคะ ที่เราดูจากสื่อต่างๆ แทบจะเหมือนเราอยู่คนละโลกในโลกทวิตเตอร์ ถ้าทวิตเตอร์มันส่งผลกระทบไปยังสื่อต่างๆ หรือไปยังประชาชนในวงกว้างได้ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่าเดิม มันก็จะดีค่ะ" 

ได้ขัดเกลาตกตะกอนวิธีคิด

นักร้องเสียงดีหลายยุค ปิงปอง ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ ชอบทวีตที่ @SirasakKasaris ให้สัมภาษณ์ ดังนี้ "ทวิตเตอร์เป็นอีกสื่อหนึ่งของยุคนี้ จริงๆ การสื่อสารเคลื่อนไหวทางสังคมให้ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้ทวิตเตอร์ก็ได้ครับ ใช้เฟซบุ๊กหรือโซเชียลอื่นๆ ก็ได้ครับ คือทวิตเตอร์เหมือนการย่อสั้นๆ เหมาะกับการแจ้งข่าวไวๆ มากกว่า ใกล้เคียงกับการสื่อสารที่เรียลไทม์ real time

สิ่งที่ผมทวีตไป ไม่คิดว่าทวีตนั้นๆ จะทำให้สังคมเปลี่ยนไปมากมายอะไรขนาดนั้น เพราะผมไม่ใช่คนที่มีคนติดตามอะไรเยอะแยะ มีทั้งคนเห็นด้วยไม่เห็นด้วย กับสิ่งที่เราทวีตออกไป

การที่เราได้ทวีตๆ ได้โพสต์ๆ หรืออ่านจากทวีตคนอื่นๆ ในทุกโซเชียลจะหล่อหลอมขัดเกลาวิธีคิดของเราไปด้วย เราเสพโซเชียลไปเรื่อยๆ จะเปลี่ยนแปลงตัวเราทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว ทำให้เราตกตะกอนไปเองครับ 

คนเรามีหลากหลายรูปมากเลยครับ แต่ละคนก็มีความคิด ความเชื่อ ความจำเป็นที่แตกต่างกันไป ผมคงไปวิเคราะห์อะไรมากไม่ได้ กับดาราที่อิกนอแรนซ์ นิ่งเฉยกับเหตุการณ์ต่างๆ ว่าเขามีความคิดแบบไหน เพราะเราไม่รู้ว่าเขาอยู่ในพื้นที่แบบไหน มีครอบครัวอย่างไร มีความจำเป็นแค่ไหน เสี่ยงอันตรายแค่ไหน

สังคมที่มันโอเค คือการที่เราแสดงความคิดเห็นได้ ในระดับที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน คุณจะอยู่ขวาอยู่ซ้าย อยู่ล่าง บน หรือกลางก็ได้หมด คือมันมีเยอะมาก สังคมที่ดีทุกคนต้องได้แสดงความเป็นตัวตนออกมาได้ โดยที่ไม่ได้รับอันตราย

 เราอยู่มานาน มีวัฒนธรรมไทยที่มีมายด์เซต (Mindset) แปลกๆ เช่น อย่าทำดีเด่นจะเป็นภัย ฯลฯ ความเชื่อบางอย่างที่ผิด เช่น การเถียงผู้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องดี แต่สังคมที่พัฒนาแล้ว คือมีการโต้แย้งกันได้

โซเชียลมีเดียมันรวมไว้หมดทั้งความรู้ ค่านิยมระดับโลก มันรวมไว้ในโทรศัพท์เครื่องเดียว มนุษย์สังคมไทยที่มีวัฒนธรรมดั้งเดิม ยังเป็นแบบนี้อยู่ แต่ผมคิดว่าเราก็ต้องพัฒนา เช่น กว่าจะเลิกทาสได้ก็ใช้เวลาหลายร้อยปี กว่าจะทำให้เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องโอเค

เช่น การเดินตามฝันของเราเอง ไม่ต้องไปตามระบบระเบียบเดิมๆ หรือการเหยียดผิว ตั้งหลายปีกว่าคนจะเปลี่ยนความคิดได้ หรือกว่าจะทำให้เรื่อง ความหลากหลายทางเพศ LGBTQ ที่โลกนี้ไม่ใช่มีแค่กะเทย ทอม ฯลฯ กลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ให้มีปมตั้งแต่เด็ก ก็หลายปีเหมือนกัน

ผมคิดว่าวันหนึ่งสังคมไทยจะพัฒนาไปเอง วันหนึ่งโลกจะหมุนซ้ายไปเรื่อยๆ ย้อนกลับไปสมัยก่อน ยังมีทาสด้อยค่ามนุษย์อยู่เลย พอจะมีการเปลี่ยนแปลงก็มีทั้งคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย สุดท้ายแล้วเราก็เปลี่ยนแปลง ยกเลิกทาสไปได้

อย่างคนรุ่นผม ยังไม่กล้าเถียงผู้ใหญ่เลยนะ รุ่นต่อมาก็กล้าถาม กล้าพูดตรงๆ ถึงจุดหนึ่ง ผมอยากให้สังคมไทยสามารถตั้งคำถามได้ โดยที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่เกิดอันตรายกับตัวเอง"

การแช่แข็งทางวัฒนธรรม

ปัญหาหลายอย่างสังคมไทย ที่จะสื่อสารออกไปทางทวิตเตอร์ หรือช่องทางอื่นๆ นั้น ปิงปอง ศิรศักดิ์ บอกไวๆ เลยว่า "ถ้าเรายอมรับตัวเองเร็ว ว่าไทยเรามีปัญหาอะไร เราจะแก้ปัญหาได้ไว ตรงจุด แต่ถ้าเราไม่ยอมรับว่าเรารับปัญหา จะมองผ่านไป มันก็จะไม่ถูกแก้ไข ความภาคภูมิใจในตัวตนในเรา ถ้ามันเยอะเกินไป เฮ้ย!!! กลายเป็นว่าไม่รักชาติ เกิดการแช่แข็งทางวัฒนธรรม แช่แข็งทางทัศนคติ จนปัญหานั้นๆ สิ่งที่ไม่โอเค ไม่ได้รับการแก้ไข

"ถ้าสังคมไทยปกครองในระบอบประชาธิไปไตยจริงๆ เช่น ผมจะเชียร์พรรคการเมืองฝั่งนั้น เชียร์แนวคิดฝั่งนี้ก็ได้หมด ตราบใดที่ไม่มีการละเมิดสิทธมนุษยชนกัน ไม่ทำร้าย ไม่คุกคาม ไม่บูลลี่กัน ไม่มีการล่าแม่มด หรือแขวนทางโซเชียล ผมอยากจะบอกว่าการอิกนอร์ ก็คือการแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างหนึ่ง จะซ้ายหรือขวา ชอบหรือไม่ชอบอะไร ทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายของมันอยู่แล้วครับ"

เลือกติดตาม จากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้

พัดชา เอเอฟ AF พัดชา เอนกอายุวัฒน์ เล่นทวิตเตอร์มานานมากกว่า 10 ปีแล้ว ทวีตที่ @PATCHADOTNET ตั้งแต่ปี 2553 กำลังสนุกกับงานดีเจ DJ ที่คลื่นดัง ส่วนงานเพลงไม่ได้หายไปไหน ล่าสุดกับงานเพลง คลื่นลูกใหม่ และกำลังจะมีงานเพลงประกอบ เท่านี้ก็พอ มาให้ฟังกันจากละครเรื่อง สามีชั่วคืน พัดชาให้สัมภาษณ์ตรงๆ ดังนี้

"พัดรู้สึว่าทวิตเตอร์ไวและเร็วค่ะ มันอัปเดตเร็วมากกว่าเฟซบุ๊กอีก คือเฟซบุ๊กยังชนะความไวของทวิตเตอร์ไม่ได้ ข้อดีทวิตเตอร์มันทำให้เราอัปเดต เป็นพื้นที่ที่ดีค่ะ ทำให้เราได้ระแวดระวัง เหตุการณ์หลายๆ เรื่อง ยกตัวอย่าง มีเหตุชุมนุมอะไร เราต้องเดินทาง เราก็ทราบได้ด้วยเลย ต้องช่วยกันจับตาเป็นประโยชน์ไปด้วย ส่วนข้อเสีย เราอาจะเผลอไป ว่า ไม่ค่อยได้เช็กข่าวนั้น ว่าข่าวนั้นจากฟีดทวิตเตอร์ อันไหนจริงหรือไม่จริง

การใช้ทวิตเตอร์ ขึ้นอยู่กับความชำนาญของคนใช้มากว่า การใช้ทุกโซเชียลต้องมีวิจารญาณทุกอันเลยเนอะ บางครั้งเรารับข่าวสาร ที่เทไปด้านใดด้านหนึ่งเยอะไป ก็ต้องคอยหมั่นเช็ก หรือบางเรื่องที่มากเกินจริงหรือเปล่า พัดจะติดตามจากแหล่งข่าวแอคเคาต์ที่เชื่อถือได้ จากสำนักข่าวต่างๆ หรือจากแอคเคาต์ของนักข่าวเลย ค่อนข้างเชื่อถือได้ค่ะ

พัดเล่นทวิตเตอร์มาตั้งแต่ปี 2553 คนไทยเข้าใจทวิตเตอร์แล้ว ว่าจะอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมนี้ได้อย่างไร จะใช้มันไปทางไหน หากไม่ได้เจาะจงเฉพาะทวิตเตอร์ โซเชียลทุกอย่างสำคัญกับชีวิตมนุษย์เรา"

ต้องใช้แบบรับผิดชอบด้วย

พัดชา ให้ข้อคิดเรื่องการใช้ทวิตเตอร์ ดังนี้ "เวลาจะทวีตอะไร พัดก็ค่อนข้างระวัง เคยมีแบบผิด แล้วทวีตแก้ต่างๆ เป็นจริงเป็นจัง เราทวีต tweet - รีทวีต retweet ไปหลายอัน ต้องมีบ้างที่ผิดไป ถ้ามันมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นมา ข้อมูลคลาดเคลื่อน บิดเบือน เข้าใจผิด เราก็ต้องตามไปแก้ เราจะไม่ปล่อยผ่าน เดือนที่แล้วพัดรีทวีตเรื่องหนึ่งไป มันเป็นข้อมูลที่บิดเบือน มีคนเตือน เฮ้ย! ขอเวลาเช็ก แต่มันกระจายข่าวไปเรื่อยๆ เราก็ต้องขอโทษ ต้องรับผิดชอบด้วย ต้องใช้โซเชียลแบบรับผิดชอบ จะตีกันน้อยลง

พัดไม่ได้ทวีตอะไรที่แหลมคม ที่จะเอาไปรีทวีต มักจะบ่นเป็นระยะมากว่า เช่น เรื่องงบประมาณปีหน้า ที่เยอะมากๆ เอาไปทวีต หรือความบ้งของนักการเมือง ความไม่เป็นมืออาชีพของนักการเมืองที่เราเห็น ก็ต้องบ่นบ้าง

อย่างล่าสุด ที่มีข่าวว่าท่านนายกรัฐมนตรี ไม่ได้สนใจการเมือง มุ่งทำงานมากกว่า การใช้รูปประโยคแบบนี้ คุณเป็นนักการเมือง แต่ไม่สนใจการเมืองเหรอ (หัวเราะ) ทำไมไม่เรียบเรียง ระวังคำในการให้ข่าวมากกว่านี้ เป็นนายกสมาคมตลกเหรอ (หัวเราะ) บางเรื่องก็เหลือเกินจริงๆ พัดไม่ค่อยเถียงกับคนในทวิตเตอร์ ที่ดูใช้อารมณ์ จะไม่ค่อยตอบเท่าไหร่ ไม่ใช่ด่ามาด่ากลับไม่โกง

พัดสนใจการเมืองอย่างเข้าใจ เมื่อไม่นานนี้ค่ะ ก่อนหน้านี้เป็นการรับรู้มาเรื่อยๆ อยู่แล้วค่ะ อ่านข่าวปกติ แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เรารู้สึกว่ารับรู้ทำความเข้าใจแล้ว เออ ควรจะใช้เสียงของเราให้เต็มที่ค่ะ ต้องยกความดีความชอบ ให้กับศิลปินนักร้องรุ่นใหม่ ที่กล้าแสดงความคิด กับส่ิงผิดปกติในสังคม เป็นศิลปินรุ่นน้อง เช่น ทิลลี่เบิร์ด (Tilly Birds), แม็กซ์ (ณัฐวุฒิ เจนมานะ), มิลลิ (ดนุภา คณาธีรกุล) ฯลฯ"

"เป็นกลุ่มนักร้องรุ่นใหม่ที่ โอ้! เจ๋งอะ! เจ๋งมาก! ชอบที่ตรงไปตรงมา เฮ้ย! เราน่าจะทำได้ เรามีที่ทางของเราที่จะแสดงความเห็นได้ เราบริหารสิทธิ์ของเราได้เหมือนกัน เป็นนิมิตหมายที่ดีค่ะ ที่เห็นความเปลี่ยนแปลง อยากจะเอาใจช่วยทุกคนที่ออกมาอยู่แล้ว 

ที่ทวิตเตอร์ พัดมักจะสนใจเวลามีการชุมนุม เราให้ข้อมูลไป อยากจะให้คนที่ออกไปเคลื่อนไหวมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อยากให้ไปออกไปชุมนุนแต่ละครั้ง มันบรรลุไปด้วยดี ไม่เกิดอันตราย"

การอยู่นิ่งๆ ของดารามีราคาที่ต้องจ่าย

พัดชา ยังกล่าวเสริมต่อไปในประเด็นสำคัญ กับการนิ่งเฉยของดาราหลายคน ที่มีประเด็นสังคมร้อนแรงต่างๆ

"ดาราทุกคนมีราคาที่ต้องจ่าย การที่คุณแสดงออก หรือไม่แสดงออก ว่าไม่มีความเห็น มีค่าใช้จ่ายหมด ก็ต้องแฟร์ๆ ค่ะ เต็มใจที่จะออกมาแสดงความเห็น มีเรื่องที่ต้องแลกไป อิกนอแเรนซ์ ignorance เป็นคำด่าที่โดนด่าแล้วเจ็บ (หัวเราะ)

การอยู่นิ่งๆ ของดารา ก็มีราคาที่ต้องจ่ายเหมือนกันค่ะ พัดว่าคนมีสิทธิ์จะถามดาราได้นะ เพราะดาราเป็นบุคคลสาธารณะ และดารามีสิทธิ์จะเลือกตอบหรือไม่ตอบ ไม่สนใจก็ได้ เราไม่บีบบังคับกัน คนเราต้องอยู่ร่วมกันอยู่ได้ เราจะบู๊กับทุกคนไม่ไหวนะคะ แต่มันจะมีบางวันต้องออกรบกันบ้าง

เวลาทวีต พัดจะระวังเรื่องอย่า Hate Speech (พูดให้เกลียดชังว่าร้าย) พูดในส่ิงที่เรารับผิดชอบได้ ถ้าเราจะออกความเห็นได้ ส่วนนักเคลื่อนไหวที่ดันบาร์ไปสุดได้ เราอาจจะเราไม่สามารถไปแตะได้ในทางโซเชียล แต่ในคลับเฮาส์ Club House ก็พูดเยอะอยู่นะ อย่างไปคลับเฮาส์ก็พูดเยอะอยู่นะ มีคนถามจริงๆ ว่าสนใจจะลงทำงานการเมืองมั้ย แต่พัดชอบอยู่ฝั่งวิจารณ์ (หัวเราะ) เราสะท้อนเสียงไป ถนัดแบบนี้มากกว่า"

ดาราสนใจประเด็นสังคมมากขึ้น สังคมก็ดีขึ้นได้

ไปคุยกันต่อเลยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อุทัยรัตน์ เมืองแสน ผู้อำนวยการหลักสูตร การจัดการมหาบัณฑิตวิทยาลัยบัณฑิตด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ให้สัมภาษณ์ได้กระชับ ตรงประเด็นดังนี้ "ประเด็นทางสังคมต่างๆ ทางทวิตเตอร์ เป็นประเด็นสำคัญนะ ที่จะขึ้นเทรนด์เยอะๆ ที่จะหยิบมาไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่ควรจะแก้ไข มีความจริงจังชัดเจน คนพร้อมสนใจและเข้าไปแก้ไข ส่วนดาราเป็นสื่อกลางในการเจรจา และแก้ไขผ่านทางทวีต ที่เห็นความบกพร่องของสังคม

ดาราสำคัญนะ เพราะดารามีชื่อเสียง เป็นจุดศูนย์กลางในการดึงคนจำนวนมากเข้าไปดูและแก้ไข มันสอดคล้องกันนะ เหมือนนักการเมืองรุ่นใหม่ก็เล่นทวิตเตอร์ จะเรียกว่าเกมการเมืองก็ได้ จากเรื่องที่ไม่ดัง มาดังขึ้นมาได้ทางทวิตเตอร์

ดาราหรือคนทั่วไป ที่ไม่ได้ให้ความสนใจกับประเด็นสังคม ก็คงไม่ผิด ดาราที่เพิกเฉยอาจจะให้ความสนใจอยู่ แต่มองว่าแก้ไขไม่ได้เลยเพิกเฉย แต่ถ้าดาราหันมาทวีต หันมาสนใจประเด็นสังคมต่างๆ ให้มากขึ้น มาช่วยส่งเสริมให้สังคมดีขึ้น เพื่อให้คนหันมาสนใจมากขึ้นๆ มาร่วมวิเคราะห์แก้ไขในกลุ่มที่แก้ไขได้"

ทวิตเตอร์ปลุกกระแส สืบสวนค้นหาความจริง

ในมุมมองนักวิชาการอีกท่าน ที่น่าคิดน่าสนใจมากๆ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เสริมยศ ธรรมรักษ์ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 

"ทวิตเตอร์มีทั้งผลดีและผลเสีย ทวิตเตอร์จะมีความไวและรวดเร็ว เมื่อมีประเด็นอะไรเกิดขึ้น ทวิตเตอร์จะเป็นช่องทางนำเสนอข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว บางครั้งเราเห็นเรื่องราวหรือประเด็นในแพลตฟอร์มอื่น พอเสิร์ชหาในทวิตเตอร์ก็เจอเรื่องราวนั้นทันที ในทางตรงข้าม บางเรื่องที่มันเร็วเกินไป ก็ขาดการไตร่ตรองวิเคราะห์ จริงหรือไม่ ใช่หรือเปล่า แต่สะพัดไปแล้ว

การเกิดประเด็นทางสังคมที่เกิดจากทวิตเตอร์ การรีทวีตก็อาจมีผลที่ดีตามมา เช่น มีการตรวจสอบ สืบสวน ค้นหาความจริง ในขณะเดียวกันบางข่าวบางประเด็น ถ้ามีการแชร์ รีทวีตกันเร็วเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบในทางเสียหายให้กับชีวิตคนคนหนึ่ง อาจส่งผลทำให้ชีวิตเขาเป๋ไปทางหนึ่งทางใด 

ทวิตเตอร์เป็นช่องทางหรือแพลตฟอร์ม ที่จะทำให้เราได้ติดตามข่าวสารอะไรใหม่ๆ ได้อย่างฉับไว และมีการกระจายของข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ประเด็นข่าวทุกวันนี้ ที่เกิดขึ้นทั้งในสื่อหลัก สื่อโซเชียลมีเดียก็อาจมาจากการ แฮชแท็ก # ที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ จากนั้นก็นำมา “ขยาย” และ “ขยี้” เพิ่มเติมในโลกข่าวสารในแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างรวดเร็ว"

เทรนด์ทวิตเตอร์ ระวังคดีพลิก

อาจารย์เสริมยศ พูดๆ ต่อไป "ในฐานะผู้รับสารยุคนี้ อาจต้องมีการดูรายละเอียดในหลายๆ ช่องทาง ไม่หลงเชื่อในประเด็นที่เป็นกระแสในทันที อาจต้องหาข้อมูลข่าวสาร จากแพลตฟอร์มต่างๆ อ่านและเปิดรับสื่อหลัก หลายๆ ครั้งเรื่องราวที่เป็นกระแสในทวิตเตอร์ แต่เมื่อดูการไหลของข่าวไปเรื่อยๆ จนถึงจุดสิ้นสุดของข่าวก็พบว่า คดีพลิก ก็มีมาแล้ว   

ดาราใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางในการสื่อสารกับแฟนคลับ มีเจตนารมณ์ในหลายแง่มุม ประการที่หนึ่งก็คือ ใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ รวมถึงการสร้างตัวตนของตัวเอง ประการที่สอง ใช้เป็นช่องทางสื่อสารกับแฟนคลับ หรือกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ ที่ตัวเองเป็นพรีเซ็นเตอร์ Presenter แบรนด์แอมบาสเดอร์ Brand Ambassador แจ้งข่าวการไปร่วมอีเวนต์ ร่วมงานกิจกรรมต่างๆ ให้แบรนด์ หรือใช้เป็นช่องทางในการแสดงความคิดเห็นเรื่องต่างๆ ที่อยู่ในกระแสความสนใจรอบตัว เช่น การเมือง สิทธิเสรีภาพ ความหลากหลายทางเพศ LGBT แฟชั่น ฯลฯ"

ดารานิ่งเฉยกับดาราที่ตื่นตัว

เป็นวิวาทะดุเดือดมายาวนานแล้ว กับพฤติกรรมของดาราบางคน ที่หากินบนความนิยมของประชาชน แต่พอมีเรื่องราวใหญ่โตทางสังคม กลับเลือกอยู่นิ่งๆ ไม่ออกมาร่วมเรียกร้องแสดงจุดยืนให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น อาจารย์ป๊อก เสริม ให้แง่คิดในประเด็นละเอียดอ่อน ดังนี้

"การเงียบเฉยๆ ก็คือการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง มันอาจจะไม่ได้หมายความว่า เค้าไม่ได้เห็นด้วย แต่ดาราบางท่านอาจจะไม่อินกับเรื่องนี้ มันขึ้นกับไลฟ์สไตล์ ความสนใจของดาราคนนั้นด้วย ดาราบางท่านอาจจะมองว่า การแสดงความคิดเห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกมา อาจจะส่งผลกระทบต่อตัวเอง

ดังนั้นเค้าก็จะต้องหาวิธีประนีประนอม ในการแสดงความคิดเห็น ดาราบางคนออกมาแสดงความคิดเห็นช้ากว่าคนอื่น ก็อาจเกิดผลใน 2 แนว แนวแรกคือ แฟนคลับดีใจว่าออกมาแสดงความเห็นแล้ว กับแนวที่สองแฟนคลับหรือคนทั่วไป อาจมองว่ามาแสดงความคิดเห็นช้า กลัวคะแนนนิยมตก ก็โดนด่าต่อ เรื่องเหล่านี้เราจะได้พบเห็นกันอยู่เป็นระยะๆ   

การเงียบของดารา ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ขึ้นอยู่กับมุมมอง บางคนอาจจะไม่เห็นด้วยเลยเลือกที่จะเงียบ บางคนอาจจะเห็นด้วย แต่ไม่แสดงออกและเลือกที่จะเงียบดีกว่า เราต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในตรงนี้ด้วย หรือดาราอาจจะมีสัญญาบางอย่างกับทางแบรนด์ เช่น ห้ามนำตัวเองไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ห้ามพูดถึงเรื่องบางอย่าง ฯลฯ  

จริงๆ แล้ว ดาราอาจจะไม่แสดงออกตรงๆ อย่างชัดเจนก็ได้ วิธีการรีทวีต retweet การแชร์ข้อมูลคอนเทนต์ก็แสดงถึงความสนใจ และมุมมองของเรา เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการสื่อสารนัยบางอย่าง และยังเป็นการบอกถึงจุดยืน เจตนารมณ์ในเรื่องนั้นๆ โดยไม่ต้องพูดอะไรออกไป"

ความกล้าหาญทางจริยธรรมของดารา 

หลายๆ เรื่องในสังคมไทย จากดำกลายเป็นเทาๆ จากเทาๆ กลายเป็นเรื่องขาวใสสะอาด จากเรื่องผิดกลายเป็นสิ่งถูกได้ยังไง นั่นต้องอาศัยความรับผิดชอบร่วมกันของคนในสังคม ร่วมดูแลตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

อาจารย์ป๊อก เสริมยศ ได้วิเคราะห์ดารากันต่อ กับอีกหน้าที่หนึ่งความรับผิดชอบต่อสังคม "ต้องยอมรับว่าดารา บุคคลที่มีชื่อเสียง ในยุคปัจจุบันเป็นหนึ่ง เป็นผู้มีอิทธิพล (Influencer) ที่จะส่งผลกระทบต่อสังคม ไม่ว่าจะในมุมมองต่อประเด็นทางสังคม การชี้นำให้ผู้บริโภคซื้อหรือใช้แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง

การที่ดาราจะประกาศจุดยืน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็อาจมีปัจจัยแวดล้อมมากมายที่ต้องตระหนัก ดาราบางท่านกล้าที่จะแสดงความชัดเจน เพราะอาจเป็นแบรนด์บุคคลที่มีความแข็งแรงอยู่แล้ว แต่ดาราบางคน เค้าอาจต้องเลือกที่จะเงียบ เพราะเค้ามีเรื่องที่ต้องแคร์ในมิติอื่นๆ ถ้าแสดงความเห็นไป อาจเกิดผลกระทบตามมา

การแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถกระทำได้ แต่อาจต้องมองในเชิงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้รอบด้าน ทุกวันนี้ในมิติของการสร้างแบรนด์ ก็มีหลายๆ แบรนด์ที่มีความชัดเจน ผ่านการแสดงจุดยืนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือ Brand Democratization (แบรนด์ประชาธิปไตย) เช่น เรื่องการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางเพศ LGBTQ เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้ก็เป็นการแสดงความเห็นด้วย ของแบรนด์ในเรื่องนั้นๆ เช่นกัน".

นักเขียน : รุ่งโรจน์เรืองรอง

กราฟิก : Varanya Phae-araya

05 ธันวาคม 2564

ผู้ชม 183 ครั้ง

Engine by shopup.com