ทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน ต้องเริ่มจากความไม่พร้อม!!
ทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน ต้องเริ่มจากความไม่พร้อม!!
ทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน ต้องเริ่มจากความไม่พร้อม!!
เราควรเริ่มสร้างธุรกิจเมื่อไหร่? คำตอบคือให้เริ่มตอนที่ไม่พร้อม เพราะความไม่พร้อมจะทำให้เราเกิดการเร่งรัดในการเรียนรู้ ขวนขวายดิ้นรน แต่ถ้ารอเมื่อพร้อมคงมีคู่แข่งแย่งทำไปแล้ว
การทำธุรกิจในยุคปัจจุบันมีความแตกต่างจากในอดีต เมื่อก่อนเรามีความเชื่อกันว่า บริษัทต้องมีทุนหนา สายป่านยาวจึงจะอยู่รอดได้ เทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทำให้บริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัทต้องปรับกระบวนทัพกันอย่างมากมาย ยูนิลีเวอร์เข้าสู่ตลาดออนไลน์ด้วยกลยุทธ์ Omni channel Marketing ด้วยการผสมผสานทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันทำให้ลูกค้าเกิดการซื้อในที่สุด ด้วยเหตุนี้ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา มีการเกิดขึ้นของแบรนด์ใหม่ๆ ทั้งที่เป็นธุรกิจ SME รวมถึง Tech Startup มากมาย
ในอดีตเราคงได้ยินคำว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” แต่วันนี้เป็นยุคของ “ปลาเร็วกินปลาช้า” คุณสมบัติของ “ความเร็ว” Speed) จึงเป็นการคว้าโอกาสบางอย่างที่บริษัทยักษ์ที่มีขนาดใหญ่ไปได้ลำบาก เพราะต้องตัดสินใจ ตัดสินใจ และตัดสินใจ กว่าจะตัดสินใจได้ ก็เสร็จปลาเร็วไปซะแล้ว กฎของความเร็ว คือถ้าในตลาดยังไม่มีใครทำต้องรีบทำและทำให้เร็ว
เร็วทั้งการนำเสนอความแปลกใหม่ เร็วทั้งการสื่อสารผ่านออนไลน์ ช่องทางออนไลน์จะเป็นช่องทางที่เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็กเพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก เปลี่ยนจากการพึ่งพาโฆษณาในสื่อโทรทัศน์ที่แสนจะแพงมาสู่การสร้างสรรค์คอนเท้นท์ที่น่าสนใจและเผยแพร่ในแพลทฟอร์มออนไลน์ต่างๆ
คำถามที่ผู้ประกอบการรายใหม่มักจะถามเสมอว่า เราควรเริ่มสร้างธุรกิจเมื่อไหร่ คำตอบแบบหวงเนื้อหวงตัวก็จะเกิดขึ้นว่า “รอเมื่อพร้อม” แต่ถ้าเป็นผมจะรีบตอบว่า ให้เริ่มตอนที่ไม่พร้อม เพราะความไม่พร้อมจะทำให้เราเกิดการเร่งรัดในการเรียนรู้ ทำให้เราต้องขวนขวายดิ้นรนและหาคำตอบให้เร็วที่สุด แต่ถ้าเรารอเมื่อพร้อม พอถึงวันที่พร้อมสถานการณ์ต่างๆอาจจะเปลี่ยนไป สิ่งที่เราคิดหรือตั้งใจว่าจะทำเมื่อพร้อม มีคู่แข่งแย่งไปทำไปแล้ว
โลกออนไลน์เป็นอีกหนึ่งแรงกระแทกธุรกิจรูปแบบเดิมให้แตกกระเจิงไปไม่น้อย เพราะวิธีคิดแบบดั้งเดิมหรือออฟไลน์กับออนไลน์ไม่เหมือนกัน คุณลักษณะเด่นของโลกออนไลน์ที่เด่นชัด คือทำให้เรื่องที่เคยไกลตัวเป็นเรื่องใกล้ตัวและง่าย
เรามาลองนั่งทบทวนกันว่าท่านทำกิจกรรมอะไรต่อไปนี้บ้างในโลกออนไลน์ ดูรอบหนัง จองตั๋วหนัง ช้อปปิ้งออนไลน์ โอนเงินออนไลน์ ร่วมโปรโมชั่นของแบรนด์ต่างๆ ด้วยการแชร์ การกดไลค์เพื่อรับส่วนลด สิทธิประโยชน์ต่างๆ ตอบแบบสอบถามออนไลน์ ระบบนำทาง GPS จ่ายค่าไฟ ค่านํ้า สุขภาพออนไลน์ จ่ายค่ากาแฟออนไลน์ ค้นหาข้อมูลที่อยากรู้เดี๋ยวนั้นทันที เรียก UBER/Grab Taxi ด้วยแอพพลิเคชัน เป็นต้น
หลายกิจกรรมที่ทำให้ผู้บริโภคง่ายขึ้น สะดวกสบายขึ้น ทุกวันนี้ผู้บริโภคหลายคนมีพฤติกรรมในการค้นหาข้อมูลทางออนไลน์และเกิดพฤติกรรมการซื้อในโลกออฟไลน์ (Research Online Purchase Offline : ROPO) ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการจึงต้องใส่ข้อมูลทุกอย่างให้ลูกค้ามีโอกาสฟีดเจอในออนไลน์
หากท่านเป็นผู้ประกอบการรายใหม่และยังไม่พร้อม ขอแนะนำให้ลงมือทำธุรกิจหรือแบรนด์ของท่านทันทีในจังหวะที่ไม่พร้อม โดยควรรู้ข้อมูลต่อไปนี้
1. รู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ จุดเริ่มต้นท่านต้องชัดเจนว่าท่านกำลังอยู่ในธุรกิจอะไร จุดยืนจุดเด่นของท่านคืออะไร ท่านต้องมีความชัดเจนเพื่อไม่ให้เราเดินผิดทาง เช่น เราจะเป็นบริการร้านขนมออนไลน์ครบวงจร
2. รู้จักลูกค้าของเราว่าเป็นใคร ครั้งหนึ่งมีเจ้าของแบรนด์ทูน่าหย็อง Tasty Choice เข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย โดยแบรนด์นี้เปิดตลาดด้วยการใช้สื่อออนไลน์เฟสบุ๊คแฟนเพจ กรณีนี้กลุ่มเป้าหมายน่าจะมี 2 กลุ่มหลักคือ 1.กลุ่มเด็ก ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องสื่อสารกับพ่อแม่ของเด็ก และ 2.กลุ่มผู้สูงอายุ ต่อมาความชัดเจนด้านลูกค้าเกิดขึ้นและโฟกัสไปที่กลุ่มเด็ก เจ้าของแบรนด์จึงมีการปรับขยับขยายวิธีเข้าถึงพ่อแม่เด็กด้วยการออกอีเว้นท์ในงานที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นแม่และเด็กจากนั้นมีการปรับบรรจุภัณฑ์ด้วยการเพิ่มข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับเด็กมากขึ้น
บางครั้งการใช้สื่อออนไลน์อาจจะทำให้เราได้ทราบกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ที่วิ่งเข้ามาหาเรา อย่างเช่น ผมคลุกคลีอยู่กับแบรนด์ชา Tea Time Terrace ที่ขายผ่านออนไลน์ ลูกค้าที่เข้ามาสอบถามข้อมูลมาหลังบ้านไม่ว่าจะเป็นทางไลน์ อินบ็อกซ์ จนเกิดพฤติกรรมการซื้อจำนวนไม่น้อย คือ “พระสงฆ์” ซึ่งมีทุกระดับจริงๆตั้งแต่เจ้าคณะตำบล อำเภอ จังหวัด ในอนาคตอาจจะต่อยอดไปสู่การทำสังฆทานชาสำหรับถวายพระ เป็นต้น โลกออนไลน์จะทำให้ท่านได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมอีกเพียบ
3. เข้าใจถึงจุดเจ็บปวด (Pain Point) ของลูกค้า คนเราทุกคนอาจมีปมปัญหา ผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราเข้าไปแก้ไขปมปัญหาอะไรให้กับลูกค้าได้บ้าง ถ้าผู้ประกอบการเข้าใจปัญหาของลูกค้า โอกาสที่จะขายผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นได้ก็มีสูงมากเพราะมันจะโดนใจลูกค้า เช่น วันนี้ลูกค้าอาจจะขี้เกียจออกไปหาอะไรรับประทานนอกบ้านหรือไม่อยากไปฝ่าการจราจรรถติดในวันทำงาน จึงเกิดบริการส่งอาหารถึงบ้านถึงที่ทำงานอย่างแบรนด์ Food Panda เป็นต้น การที่แบรนด์เข้าใจเข้าถึง Unmet Need หรือความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองของลูกค้า ความรู้สึกว่า “ใช่เลย” จะเกิดขึ้นกับลูกค้าเพราะอาการใช่เลยคืออาการที่เกิดขึ้นเมื่อเราโดนใจอะไรสักอย่าง
4. ใช้สื่อให้เป็น ถ้าเราจะจัดกลุ่มสื่อแบบหยาบๆ ก็แบ่งเป็นสื่อออฟไลน์กับสื่อออนไลน์ แต่ถ้าจะให้ผู้ประกอบการเข้าใจอย่างละเอียด เราอาจแบ่งสื่อเป็น 4 ประเภท
(1) Paid Media คือ สื่อที่ต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งพื้นที่และเวลาในการลงสื่อ เช่น การซื้อโฆษณาในเฟสบุ๊กผ่านการบูธเพจ บูธโพสต์ ความดีต่อใจของสื่อออนไลน์ประเภทนี้ คือความสามารถในการเจาะเข้าถึงกลุ่มที่เราต้องการได้ เช่น คนที่อยู่ในละแวกร้านอาหารในรัศมีกี่กิโลเมตรที่เราต้องการเข้าถึงเพื่อให้เห็นโพสต์ของเรา การเข้าถึงกลุ่มคนที่เคยวิ่งเข้ามาค้นหาข้อมูลจากสื่อของเราด้วยการทำ Remarketing หรือ Retargeting เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนเดิมที่เคยมาภายใต้ข้อสันนิษฐานว่า “ถ้าเขาเคยมาแล้วย่อมมีแนวโน้มจะใช้บริการแน่ๆ”
(2) Owned Media เป็นสื่อที่แบรนด์ของเราเป็นเจ้าของ เช่น เว็บไซต์ เฟสบุ๊ก อินสตาแกรม ช่องหรือสถานียูทูปของแบรนด์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารถึงกันระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์ผ่าน โปรโมชั่นที่เราจัด กิจกรรมสร้างความผูกพันกับลูกค้าที่เรามี เนื้อหาหรือคอนเท้นท์ที่แบรนด์สร้างขึ้นเพื่อใช้สื่อสารแบรนด์ Owned Media ยังครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ บรรยากาศในร้านค้าหรือสาขาของแบรนด์ พนักงานขาย รถขนส่งสินค้า หน่วยให้บริการลูกค้า เป็นต้น เมื่อท่านมีสื่อที่ท่านเป็นเจ้าของเองแล้ว อย่าลืมใช้สื่อเหล่านี้ในการสร้างความผูกพันระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ของเราด้วย
(3) Earned Media เป็นสื่อที่ได้มาเพิ่มเติมอันเนื่องจากผลลัพธ์ที่ตามมาหลังจากการใช้ Owned Media หรือการมีคนไปใช้บริการจริงแล้วเกิดความประทับใจจนอยากนำไปบอกกล่าวเองโดยไม่มีการจ้างวานใดๆ เช่น บล็อกเกอร์นำเรื่องราวของแบรนด์ไปเขียนถึงในบล็อกของตน คอลัมน์นิสต์เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์ของเราลงในสื่อ บุคคลที่มีชื่อเสียงพูดถึงแบรนด์ของเรา สื่อประเภทนี้จะช่วยกระจายข้อมูลของแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขวางขึ้น
(4) Shared Media เป็นสื่อที่เกิดขึ้นจากการแบ่งปันหรือส่งต่อกันในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Twitter, Facebook, Instagram, Youtube หรือการ Hashtag ต่างๆ จนเป็นกระแสเกิดขึ้น การจะก่อให้เกิด Shared Media ได้นั้นจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้าง Content ของแบรนด์ที่น่าสนใจ และ Content นั้นต้องไม่ใช่การขายของอย่างเด่นชัดหรือไม่ควรนำ Dark side ของคนมาเป็นเครื่องมือในการปั่นกระแสการแชร์
โดยสรุปแล้ว “ผู้ประกอบการที่ไม่พร้อม” จึงควรรู้ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการเรามีจุดยืนที่ชัดในเรื่องอะไร รู้จักลูกค้าของเรา เข้าใจปัญหาของเขา และต้องทำให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์หรือธุรกิจของเราด้วยการใช้สื่อออฟไลน์ ออนไลน์ให้เหมาะสมเพื่อเข้าถึงลูกค้าเหล่านั้น
อย่าลืมนะครับ!! การทำอะไรยุคนี้ต้องเร็ว เพราะปลาเร็วจะกินปลาช้า และจะเริ่มทำอะไรอย่ารอตอนพร้อม ต้องรีบทำเมื่อไม่พร้อม เพราะเมื่อพร้อมท่านอาจจะพลาดอะไรดีๆ ไป อ่านบทความนี้จบแล้ว ลงมือทำได้เลยครับ
…...................................
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ
โดย ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์
หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/578893
15 สิงหาคม 2560
ผู้ชม 1902 ครั้ง